ก่อนเริ่มงานกับเครน จป. ควรตรวจสอบรถเครน และผู้รับเหมาก่อนเริ่มงานอย่างไร
รถเครนเป็นเครื่องทุ่นแรงชนิดหนึ่งที่มักใช้ในงานก่อสร้างหรืองานที่ต้องยกสิ่งของที่มีขนาดใหญ่มีน้ำหนักมาก โดยทั่วไปเครนมักติดตั้งด้วยเคเบิ้ลและพูลเลย์โดยทำงานตามหลักเครื่องจักรพื้นฐานและรถเครนยังถูกออกแบบให้สามารถใช้งานได้กับงานหลายประเภทซึ่งในการใช้งานรถเครนต้องเลือกใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับลักษณะงานเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน และจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีการ ตรวจเครน เป็นประจำทุกปี
1. เครนแบบเคลื่อนที่ (Mobile Crane) มีแบบไหนบ้าง
เครนแบบเคลื่อนที่ (Mobile Crane) คือ รถเครนที่มีอุปกรณ์ควบคุมและเครื่องต้นกำลังติดตั้งบนยานพาหนะ เคลื่อนที่ไปที่ต่างๆ ได้ ได้แก่
- รถเครนล้อยาง (All Terrain Crane) เป็นรถบรรทุกล้อยางที่มีเครนอยู่ด้านหลังหรือด้านบน ล้อยางเคลื่อนที่ได้ทุกล้อ
- รถเครนแบบทรัคเครน (Truck Crane)
- รถเครน 4 ล้อ (Rough Terrain Crane) ออกแบบมาใช้งานในสภาพพื้นที่ขรุขระขับเคลื่อนด้วย 4 ล้อหรือ 2 ล้อ
- รถเครนตีนตะขาบ (Crawler Crane) เคลื่อนที่ด้วยตีนตะขาบเหมาะกับการใช้ในไซต์งานก่อสร้าง รุ่นบุกเบิก ติดหล่มยาก
- เครนติดรถบรรทุก (Truck Loader Crane) รถบรรทุกมีทั้งแบบปกติและแบบทัพหลัง
ซึ่งรถเครนสามารถเห็นในการใช้งานโดยทั่วไป หากรถเครนที่ใช้ในงานก่อสร้าง อาจจะมีใช้ในทุกรูปแบบ หลายชนิดพร้อมกัน แต่หากเป็นโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป มักจะเห็นได้บ่อย เป็นแบบเครนติดรถบรรทุก ที่ใช้ในงานขนย้าย เช่น เครื่องจักร เหล็ก แผ่นปูน เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเครนชนิดไหน ก็ต้องผ่านการตรวจสอบและทดสอบตาม ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบอุปกรณ์และส่วนประกอบของปั้นจั่นพ.ศ. 2554 เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงด้วย
2. สิ่งที่ต้องตรวจสอบก่อนเริ่มใช้งานรถเครน
การใช้งานรถเครนของผู้รับเหมา ก่อนเริ่มการทำงาน เมื่อผู้รับเหมานำรถเครนเข้ามาในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้างหรืองานในโรงงานอุตสาหกรรม สิ่งที่ จป. จะขอดูจากผู้รับเหมา 2 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 เอกสาร ปจ.2
ปจ.2 คือ รายการการตรวจสอบและทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับปั้นจั่นและเรือปั้นจั่น (ปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่) ซึ่งในแบบ ปจ.2 จะมีรายละเอียดการตรวตสอบของรถเครนที่ทำการตรวจสอบเอาไว้อย่างละเอียด แต่รายละเอียดใน ปจ.2 ที่ จป. ควรตรวจสอบว่ารถเครนที่ผู้รับเหมานำเข้ามาใช้ในโรงงาน หรือในพื้นที่ก่อสร้างนั้น มีความปลอดภัย สามารถใช้งานตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ได้แก่
- ยี่ห้อ รุ่น พิกัด ของรถเครนที่นำมาใช้งาน ว่าตรงกับรายละเอียดที่ระบุไว้ใน ปจ.2 หรือไม่ เพราะในบางครั้งอาจจะมีผู้รับเหมานำรถเครนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบเข้ามาใช้งาน และนำเอกสาร ปจ.2 ของรถเครนคันอื่นมาสวมแทน ซึ่งหากรถเครนที่ไม่ผ่านมาตรวจสอบถูกนำมาใช้งาน อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ จึงเป็นหน้าที่ของ จป. ในพื้นที่ต้องตรวจสอบให้ละเอียด
- ชื่อวิศวกรผู้ตรวจสอบ พร้อมใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ว่าวิศวกรที่ลงชื่อกับใบอนุญาตตรงกันหรือไม่ พร้อมกับวันที่อนุญาตและหมดอายุของวิศวกรผู้ตรวจสอบด้วย
- วันที่ทำการตรวจสอบ และวันที่ครบกำหนดตรวจสอบครั้งถัดไป เพราะหากรถเครนที่ถูกนำมาใช้งาน ยังอยู่ในระยะเวลาที่ทำการตรวจสอบก็สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย แต่หากเลยกำหนดที่อนุญาตแล้ว และยังนำมาใช้งาน อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุในขณะที่มีการใช้งานได้
- หัวข้อสภาพโครงสร้างว่ามีการดัดแปลงแก้ไขหรือไม่ ระบบต้นกำลัง ระบบส่งกำลัง ระบบควบคุมการทำงาน ระบบไฮดรอลิคและระบบลม
- ม้วนลวด สลิง รอก และตะขอ เนื่องจากอุปกรณ์ส่วนนี้ใช้งานการยกโดยตรง ต้องมีความปลอดภัย เพราะหากมีสภาพที่ไม่ปลอดภัย อาจขาดหรือเกิดความเสียหายในขณะยกได้
- พิกัดการยกที่ติดไว้ และนำหนักของที่ยก ว่าสิ่งของที่ยกเกินพิกัดของรถเครนที่นำมาใช้งานหรือไม่เพราะหากยกเกินพิกัดที่กำหนดอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
- ส่วนสรุปและการลงรายมือชื่อวิศวกรควบคุม ว่าสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย
ส่วนที่ 2 ใบรับรองการผ่านการฝึกอบรมของผู้ใช้งานรถเครน
กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดไว้ว่า นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ให้สัญญาณแก่ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ยึดเกาะวัสดุ หรือผู้ควบคุมการใช้ปั้นจั่น ผ่านการอบรมเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการทำงานที่ปลอดภัยในการทำงานของปั้นจั่น การป้องกันอันตรายจากปั้นจั่น รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างอุปกรณ์ การตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ของปั้นจั่น รวมทั้งการฝึกอบรมทบทวนการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่นแต่ละประเภท โดยวิทยากรซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่นแต่ะละประเภท ตามหลักสูตรที่กำหนด
ซึ่งเมื่อผู้รับเหมาขับรถเครนเข้ามาในพื้นที่การทำงาน แน่นอนว่า จป. ต้องขอดูเอกสารการผ่านการฝึกอบรม ว่าผู้นั้นมีเอกสารหลักฐานมาแสดงหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีเอกสารการผ่านการฝึกอบรมมาแสดง จป. ก็จะไม่ให้รถเครนคันนั้น ปฏิบัติงาน เพราะหากผู้ใช้งานไม่มีความรู้ ความชำนาญในการใช้รถเครน อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้
สรุป
การใช้งานเครน สามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน ช่วยให้สามารถเคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมากได้อย่างสะดวก แต่การใช้งานรถเครน หากใช้ไม่ถูกประเภท ไม่ตรงตามคู่มือความปลอดภัย อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ซึ่งหากมีอุบัติเหตุจากการใช้รถเครนเกิดขึ้น ย่อมต้องมีความเสียหายหรือเสียชีวิตตามมา
จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีการตรวจสอบด้านความปลอดภัยก่อนการใช้งานของรถเครน และยังต้องตรวจสอบความรู้ ความสามารถในการใช้งานของผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงด้วย เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการใช้งาน